ชนิดของเครื่องมือจัดฟัน
การจัดฟันแบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามชนิดเครื่องมือจัดฟัน
- เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้
เครื่องมือจัดฟันชนิดนี้สามารถถอดมาทำความสะอาดได้ ทันตแพทย์จะเลือกใช้เครื่องมือชนิดนี้ในกรณีที่ต้องการเคลื่อนฟันบางซี่หรือบางตำแหน่ง บางกรณีสามารถออกแบบเครื่องมือถอดได้ไว้เปลี่ยนรูปแบบการเจริญเติบโตของขากรรไกรล่างได้ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีการเจริญเติบโตอยู่
- การจัดฟันด้วยเครื่องมือัดฟันชนิดถอดได้แบบใส
เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทำการออกแบบชุดเครื่องมือเป็นลักษณะเฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละบุคคล ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์คำนวณแบบชุดเครื่องมือตามที่ทันตแพทย์ได้ตรวจสอบสภาพฟัน โดยวางแผนการรักษาและกำหนดเป้าหมายร่วมกับวิศวกรเฉพาะด้าน เมื่อได้รูปแบบชุดเครื่องมือทั้งชุดแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิต เครื่องมือที่ได้เป็นลักษณะใส ไม่มีเหล็ก ไม่มีลวดจัดฟัน ใช้ครอบลงบนฟัน ทำจากวัสดุที่แข็งแรงพอที่จะทำให้ฟันเคลื่อนที่ไปตามตำแหน่งที่ต้องการ
- เครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น
เครื่องมือชนิดนี้ติดแน่นกับตัวฟัน ไม่สามารถถอดมาทำความสะอาดได้ ทันตแพทย์จะเลือกใช้เครื่องมือชนิดนี้ในกรณีที่เคลื่อนฟันหลายซี่พร้อมกัน
เครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่นมี 2 แบบคือ
- เครื่องมือจัดฟันด้านนอก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป, มองเห็นชัด ตัวเครื่องมือติดบนผิวด้านหน้าของตัวฟัน แบ่งเป็นชนิดสีโลหะ กับชนิดสีใส (พลาสติกกับเซรามิค)
- เครื่องมือจัดฟันด้านใน ตัวเครื่องมือติดด้านหลังตัวฟันทำให้ไม่มีใครสังเกตว่ากำลังจัดฟันอยู่ แต่ข้อเสียคือลิ้นจะระคายเคืองได้ง่าย, อาศัยเวลาปรับตัวกับเครื่องมือจัดฟันนาน และค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเพราะเป็นการทำงานที่มีความซับซ้อนมากกว่า
อุปกรณ์จัดฟัน
แบร็คเก็ต (Bracket) คืออุปกรณ์จัดฟันที่ติดที่ผิวฟันด้านหน้าของตัวฟัน
แบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามชนิดของวัสดุ
- สีโลหะ
- สีใส (พลาสติกหรือเซรามิค)
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วเซรามิคแพงกว่า, ทนกว่า, สีไม่เปลี่ยนตลอดการใช้งาน แต่แข็งทำให้ฟันตรงข้ามสึกได้เมื่อกระแทกกับเครื่องมือ ในขณะที่พลาสติกราคาถูกกว่าเซรามิค, สีอาจเปลี่ยนเมื่อเวลาผ่านไป
ข้อควรระวัง: การที่แบร็คเก็ตติดที่ตัวฟันตลอดทำให้การทำความสะอาดยากลำบากต้องแปรงฟันหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ ถ้าผู้ป่วยละเลยอาจเกิดฟันผุ เหงือกอักเสบ ทำให้ผิวฟันหน้าด่างเนื่องจากฟันผุ และต้องงดอาหารประเภทกรอบ แข็ง เหนียว เพราะอาจทำให้แบร็คเก็ตหลุดง่าย ทำให้จัดฟันเสร็จช้าลง
- แบนด์ (Band) คืออุปกรณ์จัดฟันที่เป็นห่วงครอบฟันกรามเพื่อใช้เป็นหลักยึดในการดึงฟัน ปัจจุบันอาจเปลี่ยนจากแบนด์เป็นทิวป์ (Tube) ซึ่งเป็นท่อสำหรับใส่ลวดติดที่ผิวฟักรามด้านนอก
ลวดจัดฟัน นิยมใช้ 2 ชนิด
- ลวดสแตนเลส : มีความแข็งแรง, ไม่บิดงอง่าย ดัดขึ้นรูปได้
- ลวดโลหะผสม เช่นลวดนิเกิลไทเทเนียม (Nikle Titanium) : มีความนิ่ม, ความเป็นสปริงสูง, โค้งงอและกลับคืนรูปได้ นิยมใช้ในช่วงแรกของการจัดฟันกรณีฟันซ้อนเกมาก
ยางจัดฟัน (O-ring) เป็นยางห่วงเล็กๆที่ใช้รัดแบร็คเก็ตกับลวดให้อยู่กับที่ โดยธรรมชาติวัสดุที่นำมาผลิต O-ring จะเป็นแหล่งสะสมplaque จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนทุก 1 เดือน
ยางดึงฟัน (Elastic) การเคลื่อนฟันบางตำแหน่งต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยในการใส่หนังยางดึงฟันตามที่ทันตแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ทันตแพทย์จะแนะนำวิธีใส่ยาง, ทิศทางตำแหน่งรวมทั้งระยะเวลาในการใส่ยาง จึงจะทำให้ฟันเคลื่อนเข้าที่เร็วและเป็นไปตามทิศทางที่ทันตแพทย์กำหนด ควรเปลี่ยนยางทุก 24 ชั่วโมงเพราะยางจะล้า, หมดแรง